ผู้เขียน หัวข้อ: รู้ก่อนซื้อ! รถยนต์ไฟฟ้ามีกี่ประเภท แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร?  (อ่าน 415 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 303
  • โฆษณาโปรโมชั่นของท่าน*ได้กระจายสู่การรับรู้สู่ลูกค้าได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น สอบถาม รับจ้างโพสเว็บ
    • ดูรายละเอียด
รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า “รถ EV” เป็นหนึ่งในประเภทของรถยนต์ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีสมรรถนะในการทำงานที่ใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง บวกกับข้อดีต่าง ๆ มากมาย เช่น รูปลักษณ์ที่สวยงาม การประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว และไม่สร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม จึงไม่แปลกใจเลยที่รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของคนที่กำลังจะซื้อรถยนต์คันใหม่มาใช้งาน


รถยนต์ไฟฟ้ากับครอบครัว

เพื่อให้คุณซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานได้ตอบโจทย์ความต้องการที่สุด เงินติดล้อได้รวมเรื่องที่ควรรู้ก่อนซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาให้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ไฟฟ้ามีกี่ประเภท แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร ข้อดีของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงวิธีค้นหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ใครที่กำลังคิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งาน ห้ามพลาดบทความนี้เลย!


รถยนต์ไฟฟ้ามีกี่ประเภท?

ในปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าในท้องตลาดจะแบ่งเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ ไฮบริด (HEV), ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV), เซลล์เชื้อเพลิงเพลิง (FCEV) และแบตเตอรี่ (BEV) มีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังนี้


1. รถยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV)

หรือที่เรียกว่า “รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานผสม” เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์สันดาปและมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้มีกำลังและอัตราการเร่งของรถยนต์สูงที่กว่ารถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันได้มากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเพียงอย่างเดียวได้มาก

รถยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริดนั้น จะไม่สามารถเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟได้ แต่จะใช้พลังงานจลน์ที่ได้จากเครื่องยนต์เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าแล้วนำมาเก็บไว้ในแบตเตอรี่ เพื่อนำมาจ่ายเป็นพลังงานให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าต่อไป เราเรียกกระบวนการนี้ว่า การสนับสนุนการเบรกแบบผันกลับ (Regenerative braking)

ตัวอย่างรถยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริดที่มีวางจำหน่ายในไทย

    Toyota Camry Hybrid  (โตโยต้า คัมรี่ ไฮบริด)
    Toyota C-HR Hybrid (โตโยต้า ซี-เอชอาร์ ไฮบริด)
    Toyota Alphard Hybrid (โตโยต้า อัลฟาร์ด ไฮบริด)
    Toyota Prius Hybrid (โตโยต้า พรีอุส ไฮบริด)
    Toyota Altis Hybrid (โตโยต้า อัลติส ไฮบริด)
    Honda Accord Hybrid (ฮอนด้า แอคคอร์ด ไฮบริด)
    Nissan X-Trail Hybrid (นิสสัน เอกเทรล ไฮบริด)

รถยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริดเหมาะกับการใช้งานในเมืองที่มีการจราจรติดขัด ทำให้ต้องเหยียบคันเร่งสลับกับเหยียบเบรกเป็นประจำ เพราะจะช่วยให้ในช่วงที่รถติด รถยนต์จะไม่ต้องสิ้นเปลืองการใช้น้ำมันมาก ซึ่งช่วยลดการปล่อยมลภาวะได้มาก


2. รถยนต์ไฟฟ้าประเภทปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Vehicle: PHEV)

หรือที่เรียกว่า “รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานผสมแบบเสียบปลั๊ก” เป็นรถยนต์ที่มีลักษณะการทำงานและชิ้นส่วนคล้ายกับรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด แต่จะแตกต่างกันตรงที่สามารถชาร์จไฟฟ้าจากภายนอกได้ ทำให้สามารถสลับไปใช้งานการขับเคลื่อนด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวในระยะสั้น ๆ ได้

ตัวอย่างรถยนต์ไฟฟ้าประเภทปลั๊กอินไฮบริดที่มีวางจำหน่ายในไทย

    BMW plug-in hybrid (บีเอ็มดับเบิลยู ปลั๊กอิน ไฮบริด)
    Mercedes-Benz plug-in hybrid (เมอร์เซเดสเบนซ์ ปลั๊กอิน ไฮบริด)
    Audi plug-in hybrid (รถอาวดี้ ปลั๊กอิน ไฮบริด)

รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานผสมแบบเสียบปลั๊กจะเหมาะกับคนที่อยากใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ แต่ยังจำเป็นที่จะต้องเดินทางไกลข้ามจังหวัด หรือเดินทางไปในจังหวัดที่ยังไม่มีการชาร์จรถไฟฟ้า จึงทำให้การใช้งานรถยนต์ประเภท PHEV ตอบโจทย์มากที่สุด


3. รถยนต์ไฟฟ้าประเภทเซลล์เชื้อเพลิงเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV)

หรือที่เรียกว่า “รถไฮโดรเจน” เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นหลัก แต่จะแตกต่างจากรถยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่นตรงที่ใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนในการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยไฮโดรเจนจะถูกเก็บอยู่ในรูปแบบของเหลว หลังจากนั้นจะถูกส่งไปที่แผงเซลล์ร่วมกับอากาศที่มีออกซิเจน เพื่อทำปฏิกิริยาในการสร้างไฟฟ้า หลังจากนั้นไฟฟ้าจะถูกส่งไปเก็บไว้ที่แบตเตอรี่เพื่อใช้เป็นพลังงานให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าต่อไป จึงทำให้รถยนต์ประเภทนี้ต้องเติมพลังงานไฮโดรเจนแทนการชาร์จไฟนั่นเอง

ตัวอย่างรถยนต์ไฟฟ้าประเภทเซลล์เชื้อเพลิงเพลิง

    Toyota Mirai (โตโยต้า มิไร)
    Hyundai Nexo (ฮุนได เนกโซ่)
    Honda Clarity Fuel Cell (ฮอนด้า คลาริตี้ ฟิวเซลล์)

แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าประเภทเซลล์เชื้อเพลิงเพลิงจะเหมาะกับการใช้งานทั่วไป แต่ในปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าประเภทนี้ยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงอยู่ จึงทำให้ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของทั้งไทยและต่างประเทศ อีกทั้งยังไม่ค่อยเหมาะที่จะใช้ในประเทศไทย เนื่องจากยังไม่ค่อยมีสถานีเติมไฮโดรเจนเปิดให้บริการ


4. รถยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV)

หรือที่เรียกว่า “รถยนต์ไฟฟ้า” จัดเป็นประเภทรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังได้รับความนิยมมากที่สุด โดยจะขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าประเภทนี้มีแบตเตอรี่ที่ใหญ่มาก ๆ มีข้อดีตรงที่ไม่มีการปล่อยควันไอเสียออกมาเลย 100% แต่จะมีข้อจำกัดตรงที่ต้องชาร์จพลังงานไฟฟ้าก่อนใช้งานทุกครั้ง และจะต้องคำนวณระยะทางการเดินทางต่อพลังงานไฟฟ้า และสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้ดี

ตัวอย่างรถยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ที่มีวางจำหน่ายในไทย

    Tesla (เทสล่า)
    Nissan Leaf (นิสสัน ลีฟ)
    MG ZS EV (เอ็มจี ซีเอส อีวี)
    Hyundai IONIQ EV (ฮุนได ไอออนิค อีวี)
    BMW i3  (บีเอ็ม ไอ3)
    Kia Soul EV (เกีย โซล อีวี)
    BYD E6 (บีวายดี อี6)
    Audi e-tron (อาวดี้ อีตรอน)

รถยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่จะเหมาะสำหรับการใช้งานในเมือง หรือขับในระยะทางใกล้ ๆ มากกว่าระยะไกล ซึ่งถ้าหากจำเป็นต้องเดินทางไกลด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาเส้นทางและสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้ดี เพื่อที่จะได้วางแผนการชาร์จไฟได้อย่างเหมาะสม และไม่เกิดปัญหาพลังงานไฟฟ้าหมดกลางทาง
ข้อดี-ข้อเสียของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

หลังจากที่รู้แล้วว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบ่งออกเป็นกี่ประเภท และแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร เชื่อว่าหลายคนก็คงตัดสินใจได้แล้วว่าจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อไหนดีที่ตอบโจทย์ที่สุด แต่สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่ารถยนต์ไฟฟ้าเหมาะกับตัวเองจริง ๆ ไหม เราได้รวมข้อดี-ข้อเสียของการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามาให้แล้ว สามารถนำข้อมูลด้านล่างนี้ไปประกอบการตัดสินใจได้เลย

ข้อดีของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

    รถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างมลภาวะทางอากาศ ไม่มีการปล่อยไอเสีย
    รถยนต์ไฟฟ้ามีความเงียบมากกว่ารถยนต์สันดาป ไม่มีเสียงเวลาขับขี่ จึงลดมลพิษทางเสียงได้มาก
    รถยนต์ไฟฟ้ามีให้เลือกใช้งานหลายรุ่น หลายยี่ห้อ โดยมีหลายรุ่นมากที่มีสมรรถนะเทียบเคียงกับรถยนต์สันดาป ซึ่งคุณสามารถเลือกรถยนต์ไฟฟ้าที่มีสมรรถนะการใช้งานที่ตอบโจทย์ความต้องการได้เลย
    การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว เนื่องจากพลังงานไฟฟ้ามีราคาที่ถูกกว่า และไม่ต้องคอยเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเหมือนเครื่องยนต์สันดาปด้วย


ข้อเสียของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

    รถยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาที่สูงอยู่ เนื่องจากกระบวนการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่มีราคาสูง
    รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละรุ่นจะมีการกำหนดระยะทางการขับขี่ต่อการชาร์จ 1 ครั้งที่ชัดเจน ซึ่งผู้ใช้งานจะต้องวางแผนการชาร์จระหว่างทางให้ดี ในกรณีที่ต้องเดินทางระยะไกล
    อาจมีข้อจำกัดการใช้งานในบางพื้นที่ เนื่องจากสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย

รวม 5 สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

เตรียมพร้อมก่อนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

สำหรับใครที่ตัดสินใจแล้วว่าต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เราขอแนะนำให้คุณติดตั้ง 5 สิ่งนี้ให้พร้อม เพื่อที่จะได้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอย่างสบายใจ ไม่มีปัญหามากวนใจในภายหลัง ได้แก่

    ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าบ้านที่มีแอมป์เหมาะสมและรองรับกับรถยนต์ไฟฟ้า
    เปลี่ยนขนาดสายไฟฟ้าเข้าบ้าน หรือที่เรียกว่า “สายเมน” และขนาดลูกเซอร์กิต (MCB) ให้สอดคล้องกับมิเตอร์ไฟฟ้าอันใหม่
    ติดตั้งตู้ควบคุมไฟฟ้า (Main Distribution Board: MDB) แยกสำหรับการชาร์จรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ
    ติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว (Earth-Leakage Circuit Breaker) เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน
    ติดตั้งหัวชาร์จไฟฟ้า (EV Socket) จากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

สำหรับใครที่มีข้อสงสัยว่ามีขั้นตอนการติดตั้งอย่างไร สามารถสอบถามกับผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่ไปใช้บริการได้เลย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยดำเนินการเรื่องเหล่านี้อยู่

แนะนำวิธีค้นหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าใกล้ฉัน จะขับไปไหนก็ไร้กังวล

สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าต้องให้ความสำคัญ และควรศึกษาไว้ว่ามีที่ไหนบ้าง เพื่อที่เวลาต้องการชาร์จไฟฟ้าจะได้หาสถานีเจอ ไม่เกิดปัญหาไม่มีที่ชาร์จ หรือพลังงานไฟฟ้าหมดกลางทาง จนทำให้ไม่สามารถใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าได้

สำหรับใครที่ไม่รู้จะหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ไหนดี เงินติดล้อมี 2 วิธีค้นหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าใกล้ฉันแบบง่าย ๆ มาฝาก จะมีวิธีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย

    วิธีที่ 1 : ค้นหาจาก Google Map โดยค้นหาด้วยคำที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า, จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า, EV Charging, EV Charging Stations หรือ EV Charger เป็นต้น
    วิธีที่ 2 : ค้นหาจากแอปพลิเคชันผู้ให้บริการชาร์จรถไฟฟ้า เช่น EVolt,  EA Anywhere,  PlugShare, MEA EV, EV Station PluZ, PEA VOLTA หรือ GO TO-U ซึ่งบางแอปพลิเคชันจะมีฟังก์ชันการจองคิวใช้งานล่วงหน้าได้อีกด้วย




รู้ก่อนซื้อ! รถยนต์ไฟฟ้ามีกี่ประเภท แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร? อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://www.checkraka.com/car/?fuel_type=4078&quicksearch_order=306,DESC-326,ASC