ใครเป็นสายดื่มคงเคยผ่านอาการเมาค้างกันมาบ้าง ตื่นเช้ามาก็มึนหัวไม่หาย การเมาค้างมีผลเสียกับร่างกายของเรายังไง ต้องทำยังไงถึงจะแก้แฮงก์ได้อยู่หมัด เรามีคำตอบ!
เหล่านักดื่มตัวยงสารภาพมาซะดี ๆ ! ตอนจิบตอนดื่มมันก็เพลิน ยิ่งเคล้าบรรยากาศสนุก ๆ ยิ่งวางแก้วไม่ลง แต่ก็มาล้มตอนตื่นทุกที ใครเคยผ่านอาการเมาค้างกันมาบ้าง คงรู้ว่ามันรู้สึกไม่ดีเอาซะเลยใช่ไหมคะ ทั้งหิวน้ำ ทั้งเมื่อย คลื่นไส้ ปวดหัว ปวดท้อง จนไม่เป็นอันทำอะไรไปทั้งวัน ซ้ำร้ายอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์อีกเพียบ ว่าแต่อาการเมาค้างเกิดขึ้นได้อย่างไร มีข้อเสียต่อร่างกายของเรายังไง แล้วสามารถบรรเทายังไงได้บ้าง วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ
สาเหตุของอาการเมาค้างและผลเสียต่อร่างกาย
อาการเมาค้าง หรือแฮงก์ (Hangover) มักจะเกิดขึ้นหลังจากระดับแอลกอฮอล์ในเลือดลดลง ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายสารอะเซทัลดีไฮด์ (Acetaldehyde) หรือตัวแอลกอฮอล์ที่ตับของเรา โดยเอนไซม์แอลดีไฮด์ ดีไฮโดรจีเนส (Aldehyde dehydrogenase) จนกลายเป็นสารอะซิเตต (Acetate) ที่ไม่เป็นพิษกับร่างกาย ก่อนจะขับออกไปทางปัสสาวะ แต่ปัญหาก็คือในร่างกายของแต่ละคนมีเอนไซม์แอลดีไฮด์ ดีไฮโดรจีเนสไม่เท่ากัน และมีจำนวนจำกัด ถ้าหากย่อยแอลกอฮอล์ไม่ทันก็จะทำให้หน้าแดง คอแดง และมีอาการปวดหัว คลื่นไส้ ไปจนถึงอาเจียนนั่นเองค่ะ แต่นอกจากอาการที่เห็นได้ชัดเหล่านี้ แอลกอฮอล์ที่เราดื่มเข้าไปส่งผลต่อระดับฮอร์โมนและระบบต่าง ๆ ในร่างกายอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น
- ทำให้ร่างกายขาดน้ำ : แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ ซึ่งการปัสสาวะบ่อย ๆ จะเป็นการขับเอาน้ำในร่างกายและแร่ธาตุต่าง ๆ อย่างแมกนีเซียม วิตามินบี และโพแทสเซียมออกไป ทำให้เกิดอาการกระหายน้ำ ปวดศีรษะ และเหนื่อยล้าจากการขาดน้ำนั่นเอง
- ทำให้การนอนหลับผิดปกติ : แอลกอฮอล์ส่งผลต่อการทำงานของสมองทำให้เรารู้สึกง่วง แต่จะเป็นการนอนหลับที่ไม่ต่อเนื่อง กล่าวคือสมองของเราไม่ได้พักผ่อนเต็มที่เหมือนการหลับทั่ว ๆ ไป ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า วิงเวียน และรู้สึกไม่สดชื่นหลังตื่นนอน
- ทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร : แอลกอฮอล์มีฤทธิ์เพิ่มกรดในกระเพาะ และลดระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้รู้สึกคลื่นไส้ ไม่สบายตัว ท้องเสีย อาเจียน
- ทำให้เกิดอาการขาดแอลกอฮอล์ : การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เรารู้สึกสงบ ผ่อนคลาย และร่าเริงมากขึ้น สมองของเราก็จะปรับการทำงานต่าง ๆ เพื่อให้สมดุลกับอาการเหล่านี้ เมื่อระดับแอลกอฮอล์ลดลงตามการย่อยสลายแอลกอฮอล์ที่ตับอย่างที่เราบอกไว้ข้างต้น จึงทำให้เรารู้สึกอ่อนเพลียและอาจเครียดกว่าตอนที่เริ่มดื่มเสียอีก
นอกจากผลเสียที่เราบอกข้างต้น แอลกอฮอล์ยังมีผลเสียระยะยาวกับตับ ตับอ่อน ลำไส้ และสมองอีกด้วย เพราะฉะนั้นการดื่มแต่พอดีจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ
รวมวิธีแก้เมาค้าง
หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินกันมาว่าถ้าเมาค้างก็ให้ดื่มเพิ่มเข้าไปอีกหน่อย วิธีนี้อาจช่วยได้ในระยะสั้น ๆ เพราะทำให้ระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายเพิ่มขึ้น แต่บอกเลยว่าไม่ทำให้หายขาดแน่นอน แถมยังส่งผลเสียมากขึ้นไปอีกต่างหาก ใครมีอาการเมาค้าง เราขอแนะนำให้ทำตามวิธีแก้แฮงก์ดังต่อไปนี้ค่ะ
บ๊วยดอง : บ๊วยดองมีเอนไซม์และแบคทีเรียที่ดีต่อร่างกายจากการหมักดอง และรสเปรี้ยวยังช่วยทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าอีกด้วยค่ะ
ลูกพลับ : ลูกพลับอุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารต่าง ๆ ที่ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากอาการเมาค้าง มีโพแทสเซียมสูง และมีเอนไซม์ที่ช่วยให้ร่างกายย่อยสลายแอลกอฮอล์ได้ดีขึ้น.
ซุปมิโซะ : ซุปเต้าเจี้ยวหมักญี่ปุ่นมีคุณประโยชน์ทั้งสารอาหาร เอนไซม์ และโพรไบโอติกที่ดีต่อระบบย่อยอาหาร ซดร้อน ๆ สักถ้วยช่วยแก้แฮงก์ได้ดีทีเดียวค่ะ
ซุปหอยตลับ : อีกหนึ่งเมนูแก้แฮงก์ตำรับญี่ปุ่นที่ใช้หอยชิจิมิ หรือหอยตลับน้ำจืดมาทำเป็นซุป เพราะอุดมไปด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ร่างกายเสียไปหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ แถมยังช่วยบำรุงตับอีกด้วย
ข้าวต้ม : ข้าวต้มร้อน ๆ สักชาม ช่วยเติมคาร์โบไฮเดรต และเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดให้ร่างกายสดชื่นมากขึ้น เติมพลังงานกับสมองของเราให้พร้อมลุยต่อหลังจากดื่มหนัก
ออกกำลังกาย : การออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายตื่นตัว และหลังสารเอ็นดอร์ฟินที่ทำให้รู้สึกดีและสดชื่นมากขึ้น แต่ทางที่ดีควรทำควบคู่กับการเติมน้ำให้ร่างกายด้วยนะคะ
เมาค้างแย่กว่าที่คิด! ผลเสียของอาการแฮงก์และวิธีแก้แฮงค์อย่างอยู่หมัด อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://mmed.com/