ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: ริดสีดวงตา (Trachoma)  (อ่าน 58 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 347
  • โฆษณาโปรโมชั่นของท่าน*ได้กระจายสู่การรับรู้สู่ลูกค้าได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น สอบถาม รับจ้างโพสเว็บ
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: ริดสีดวงตา (Trachoma)
« เมื่อ: วันที่ 7 ธันวาคม 2024, 22:24:53 น. »
Doctor At Home: ริดสีดวงตา (Trachoma)

ริดสีดวงตา เป็นโรคตาอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อยในพื้นที่ที่แห้งแล้ง กันดาร มีฝุ่นมาก และมีแมลงหวี่แมลงวันชุกชุม

การอักเสบจะเป็นเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี และอาจติดเชื้ออักเสบซ้ำ ๆ หลายครั้ง เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้มักมีอยู่เพียงชั่วคราว ทำให้เกิดแผลเป็นที่บริเวณเปลือกตาบน ซึ่งจะดึงรั้งให้เปลือกตาม้วนเข้าด้านใน ทำให้ขนตาแยงเข้าด้านในไปตำถูกกระจกตาเกิดการอักเสบและเป็นแผลกระจกตา ทำให้ตาบอดได้

ปัจจุบันพบได้ประปรายในบ้านเรา พบได้ในคนทุกวัย แต่จะพบมากในเด็กก่อนวัยเรียนที่พ่อแม่ปล่อยให้เล่นสกปรก

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อริดสีดวงตาซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่า คลามีเดียทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) ติดต่อโดยการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ทำให้เชื้อจากคนที่เป็นโรคแพร่ไปเข้าตาของอีกคนหนึ่ง บางครั้งอาจติดต่อผ่านทางผ้าเช็ดตัว เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกัน หรือผ่านทางแมลงหวี่ แมลงวันที่มาตอมตา นำเชื้อจากคนหนึ่งไปให้อีกคนหนึ่ง การติดต่อมักจะต้องอยู่ใกล้ชิดกันนาน ๆ จึงมักพบเป็นพร้อมกันหลายคนในครอบครัวเดียวกัน

เชื้อนี้จะเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุตาขาวและกระจกตา (ตาดำ)

ระยะฟักตัว 5-12 วัน


อาการ

แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

1. ระยะแรกเริ่ม มีอาการเคืองตา คันตา น้ำตาไหล ตาแดงเล็กน้อย และอาจมีขี้ตา ซึ่งมักจะเป็นที่ตาทั้ง 2 ข้าง อาการคล้ายกับเยื่อตาขาวอักเสบจากเชื้ออื่น ๆ จนบางครั้งแยกกันไม่ออก แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าพบว่ามีอาการเรื้อรังนาน 1-2 เดือน และอยู่ในท้องถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุม หรือมีคนในบ้านเป็นโรคนี้อยู่ก่อน ก็อาจให้การรักษาแบบโรคริดสีดวงตาไปเลย

ถึงแม้ไม่ได้รักษาในระยะนี้บางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเข้าสู่ระยะที่ 2

2. ระยะที่เป็นริดสีดวงแน่นอนแล้ว การอักเสบจะลดน้อยลง ผู้ป่วยจะมีอาการต่าง ๆ ลดลงกว่าระยะที่ 1 แต่ถ้าพลิกเปลือกตาดู จะพบเยื่อบุตาหนาขึ้น และเห็นเป็นตุ่มเล็ก ๆ ที่เยื่อบุตาบน (ด้านในของผนังตาบน) นอกจากนี้จะพบว่ามีแผ่นเยื่อบาง ๆ ออกสีเทา ๆ ที่ส่วนบนสุดของตาดำ (กระจกตา) ซึ่งจะมีหลอดเลือดฝอยวิ่งเข้าไปในตาดำ แผ่นเยื่อสีเทาซึ่งมีหลอดเลือดฝอยอยู่ด้วยนี้เรียกว่า แพนนัส (pannus) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ (เยื่อตาขาวอักเสบจากการแพ้ อาจมีตุ่มเล็ก ๆ ที่เยื่อบุเปลือกตา แต่จะไม่มีแพนนัสที่ตาดำ)

ระยะนี้อาจเป็นอยู่นานเป็นแรมเดือน หรือแรมปี หากไม่ได้รับการรักษาก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3

3. ระยะเริ่มเป็นแผลเป็น ระยะนี้อาการเคืองตาลดน้อยลง จนแทบไม่มีอาการอะไรเลย ตุ่มเล็ก ๆ ที่เยื่อบุเปลือกตาบนเริ่มค่อย ๆ ยุบหายไป แต่จะมีพังผืดแทนที่กลายเป็นแผลเป็น ส่วนแพนนัสที่ตาดำยังคงปรากฏให้เห็น

ระยะนี้อาจกินเวลาเป็นแรมปี เช่นเดียวกับระยะที่ 2 การใช้ยารักษาในระยะนี้ไม่ค่อยได้ผล และจะเข้าสู่ระยะที่ 4

4. ระยะของการหายและเป็นแผลเป็น ระยะนี้เชื้อจะหมดไปเอง แม้จะไม่ได้รับการรักษา แพนนัสจะค่อย ๆ หายไป แต่จะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นรุนแรงทุกราย บางรายเป็นแล้วอาจหายได้เองในระยะแรก ๆ

ส่วนในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน มักจะมีการติดเชื้ออักเสบบ่อย ๆ ประกอบกับมีปัจจัยเสริมอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม ขาดอาหาร ขาดวิตามิน เป็นต้น


ภาวะแทรกซ้อน

การติดเชื้อมักเกิดขึ้นในวัยเด็ก หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ ถึงแม้เชื้ออาจหายไปและอาการสงบลงแล้ว แต่ในระยะต่อมาซึ่งอาจนานเป็นปี ๆ คือในช่วงอายุมากขึ้นหรือเป็นผู้ใหญ่ ก็อาจเกิดอาการผิดปกติของตากำเริบบ่อยจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น

ที่พบบ่อย ได้แก่ แผลเป็นที่บริเวณเปลือกตาบน จะดึงรั้งให้เปลือกตาม้วนเข้าด้านใน เรียกว่า อาการขอบตาม้วนเข้า (entropion)* ทำให้ขนตาแยงเข้าด้านใน (ขนตาเก) ไปตำถูกกระจกตา เกิดการอักเสบ และเป็นแผลกระจกตา ทำให้สายตาพิการได้

แผลเป็นอาจอุดกั้นท่อน้ำตา ทำให้น้ำตาไหลตลอดเวลาหรือไม่ก็อาจทำให้ต่อมน้ำตาไม่ทำงานและตาแห้งได้

นอกจากนี้ อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดแผลกระจกตาและความเรื้อรังของโรค

หากปล่อยปละละเลย หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง ก็อาจทำให้ตาบอดได้

*อาการขอบตาม้วนเข้า (entropion) นอกจากริดสีดวงตาแล้ว ยังอาจพบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมสภาพของหนังตา ทำให้เปลือกตาม้วนเข้าด้านใน (ส่วนใหญ่จะเป็นที่ขอบตาล่าง) นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการติดเชื้อ การอักเสบ การบาดเจ็บ หรือการมีแผลเป็นที่เปลือกตา ผู้ที่เป็นขอบตาม้วนเข้าในมักมีขนตาเกร่วมด้วย ควรแก้ไขด้วยการผ่าตัด

ส่วนขนตาเก (trichiasis) ซึ่งหมายถึงอาการขนตาแยงเข้าด้านในนั้น ยังอาจเกิดจากการติดเชื้องูสวัด กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน การถูกสารเคมีหรือความร้อนที่เปลือกตา การบาดเจ็บ หรือการผ่าตัดเปลือกตา ควรแก้ไขด้วยการถอนขนตา หรือใช้ไฟฟ้าหรือความเย็นจี้ หรือฉายรังสี

นอกจากนี้ยังอาจพบความผิดปกติของเปลือกตาอีกชนิด คือ อาการขอบตาม้วนออก/ขอบตาแบะ (ectropion) ซึ่งพบที่ขอบตาล่าง มักพบเป็นความเสื่อมสภาพของหนังตาในผู้สูงอายุ อาจเกิดจากความผิดปกติโดยกำเนิด หรือพบร่วมกับโรคอื่น เช่น อัมพาตเบลล์ ตาโปนในผู้ป่วยคอพอกเป็นพิษ เป็นต้น ทำให้ปิดตาได้ไม่มิด ผิวกระจกตาแห้ง และอาจกลายเป็นแผลกระจกตา นอกจากนี้อาจอุดกั้นทางเดินน้ำตา ทำให้น้ำตาไหลมากกว่าปกติ


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย

ในระยะแรก มักตรวจพบว่าตาทั้ง 2 ข้างมีน้ำตาไหล ตาแดงเล็กน้อย และอาจมีขี้ตา

ระยะต่อมาพบเยื่อบุตาหนาขึ้น และเห็นเป็นตุ่มเล็ก ๆ ที่เยื่อบุตาบน และแผ่นเยื่อสีเทาซึ่งมีหลอดเลือดฝอยอยู่ด้วย (ซึ่งเรียกว่า แพนนัส)

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การขูดเยื่อบุตาย้อมสีด้วย Geimsa stain หรือ immunofluorescein, การเพาะเชื้อ เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ในระยะแรกที่มีการติดเชื้อ แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ได้แก่ อะซิโทรไมซิน (azithromycin) ซึ่งให้ผลดีและสะดวก คือ กินเพียงครั้งเดียว (เด็กให้ขนาด 20 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก., ผู้ใหญ่ขนาด 1 กรัม)

หรือใช้ยาป้ายตาเตตราไซคลีน วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เป็นเวลา 6 สัปดาห์

2. ถ้ามีภาวะแทรกซ้อน เช่น ถ้ามีภาวะตาแห้งให้ใช้น้ำตาเทียม

ถ้ามีขอบตาม้วนเข้าจากแผลเป็นที่เปลือกตาบน หรือภาวะขนตาเกเข้า แพทย์จะทำการผ่าตัดแก้ไข

ในรายที่เป็นแผลเป็นที่กระจกตา อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา (corneal transplantation)

ผลการรักษา ถ้าได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะตั้งแต่ระยะแรก ๆ ก็จะหายเป็นปกติ และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ถ้าปล่อยให้มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้ว ก็จะมีความยุ่งยากในการรักษา


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการคัน เคืองตา น้ำตาไหล ตาแดงเล็กน้อย มีขี้ตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่ในท้องถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุม ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นริดสีดวงตา ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา ใน 1 สัปดาห์
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

    หมั่นล้างหน้าและล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะในเด็ก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงหวี่ แมลงตอมตา
    กำจัดแมลงหวี่แมลงวัน โดยไม่ทิ้งขยะเรี่ยราด และกำจัดขยะให้ถูกวิธี
    หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
    หลีกเลี่ยงใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว


ข้อแนะนำ

1. โรคนี้ในอดีตพบได้บ่อยและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตาบอด แต่ปัจจุบันพบได้น้อยลงมาก เนื่องจากประชาชนมีสุขนิสัยที่ดี และชุมชนสาธารณูปโภคที่ดีขึ้น รวมทั้งมีระบบสาธารณสุขที่กระจายทั่วถึงและมีการใช้ยาปฏิชีวนะที่กำจัดเชื้อริดสีดวงตาที่มีประสิทธิภาพ

2. โรคนี้ควรแยกออกจากเยื่อตาขาวอักเสบชนิดอื่น (ดู "เยื่อตาขาวอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย, เยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส, เยื่อตาขาวอักเสบจากการแพ้" เพิ่มเติม) ควรสงสัยเป็นริดสีดวงตา เมื่อมีอาการอักเสบเรื้อรังเป็นเดือน ๆ และอยู่ในท้องถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุม

3. คำว่าริดสีดวงตา ชาวบ้านหมายถึง อาการเคืองตา คันตาเรื้อรัง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการแพ้หรือจากการติดเชื้อริดสีดวงตา (trachoma) ก็ได้ ทั้ง 2 โรคนี้มีสาเหตุ อาการ ภาวะแทรกซ้อน และการรักษาต่างกัน

4. การรักษาริดสีดวงตา ต้องลงมือรักษาตั้งแต่ในระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นระยะที่มีการติดเชื้อรุนแรง การใช้ยาปฏิชีวนะจะสามารถทำลายเชื้อ และป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อน (แต่ในระยะที่ 3 และ 4 เป็นระยะที่การติดเชื้อเบาบางลงแล้ว และเปลือกตาเริ่มเป็นแผลเป็น การใช้ยาปฏิชีวนะในระยะนี้จึงไม่ค่อยได้ประโยชน์ คือ ไม่สามารถลดหรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้) และควรรักษาผู้ป่วยที่มีอยู่ในบ้านพร้อมกันทุกคน