จากอดีตจนถึงปัจจุบันจะพบว่าหลายบริษัทจะมีนโยบายในการแจกยูนิฟอร์ม หรือเครื่องแบบพนักงานโดยกำหนดไว้เป็นระเบียบเอาไว้เลยว่าพนักงานจะต้องใส่เครื่องแบบตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ภายในบริเวณบริษัท
หลักคิดในการให้พนักงานใส่เครื่องแบบคงต้องการให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สามารถแยกได้ชัดเจนว่าใครเป็นพนักงานใครเป็นบุคคลภายนอกที่เข้ามาในบริษัท
เครื่องแบบพนักงานจึงต้องมีโลโก้ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทติดเอาไว้ชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันหลายบริษัทที่มีนโยบายผ่อนคลายจากเดิมที่กำหนดให้พนักงานต้องใส่เสื้อเชิ้ตผูกเนกไท มาเป็นให้พนักงานใส่เสื้อยืด หรือเสื้อแจ็กเกตที่มีโลโก้ของบริษัท ผมยังจัดให้ลักษณะแบบนี้เป็นการกำหนดให้พนักงานใส่เครื่องแบบเหมือนกันครับ
ตอนผมจบมาใหม่ ๆ ได้เข้าทำงานในธนาคารแห่งหนึ่งเมื่อหลายสิบปีที่แล้วจะกำหนดให้พนักงานชายจะต้องใส่เสื้อเชิ้ตกางเกงขายาวสีเข้มรองเท้าหนัง และต้องผูกเนกไทที่มีโลโก้ของธนาคารที่แจกให้ปีละ 2 เส้น ส่วนพนักงานหญิงจะได้รับผ้าจากธนาคาร ซึ่งผ้าจะเป็นสีที่ธนาคารกำหนดไปตัดเอง (ผ้าที่ธนาคารแจกจะตัดยูนิฟอร์มได้ 2 ชุด ถ้าพนักงานต้องการมากกว่านี้ต้องซื้อผ้าเพิ่มเอง)
ระเบียบของธนาคารจะกำหนดให้มียูนิฟอร์มสำหรับพนักงานที่ตำแหน่งต่ำกว่าหัวหน้าส่วน (เทียบเท่าผู้จัดการสาขา) เท่านั้น ดังนั้น คนที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วน (ในสำนักงานใหญ่) และผู้จัดการสาขาขึ้นไปถึงจะไม่ต้องใส่ยูนิฟอร์ม เพราะถือว่าเป็นผู้บริหารระดับกลาง (ในสมัยนั้น) ขึ้นไป
ผมเชื่อว่าในสมัยก่อนที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาท และอิทธิพลมากเหมือนในปัจจุบัน การใส่เครื่องแบบของบริษัทไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดที่ผมบอกมาข้างต้น อาจทำให้ผู้สวมใส่เกิดความภูมิใจที่เป็นพนักงานขององค์กรนั้น ๆ และในมุมของฝ่ายบริหารก็เกิดความรู้สึกเป็นระเบียบเรียบร้อย
แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อทุกคน !
เราจะเห็นหลาย ๆ กรณีมาแล้วครับว่าพนักงานบริษัทใส่ยูนิฟอร์มที่มีโลโก้ของบริษัท (ไม่ว่าจะเป็นยูนิฟอร์มเต็มรูปแบบหรือเป็นเสื้อยืดหรือเสื้อแจ็กเกตที่มีตราโลโก้ของบริษัทก็ตาม) เข้าไปในที่ชุมนุมทางการเมือง (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม) หรือใส่ยูนิฟอร์มของบริษัทแล้วไปเกิดเหตุทะเลาะวิวาทกับคู่กรณีบนถนน หรือพนักงานไปทำสิ่งไม่ดีไม่งามในที่สาธารณะ ฯลฯ
แล้วมีคนถ่ายคลิปเอาไว้ และนำไปลงสื่อโซเชียลก็จะเกิดการส่งต่อคลิป และวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโซเชียลจนหลายกรณีทำให้บริษัทโดนด่าโดนโจมตี บางครั้งโดนกระแสแบนหรือบอยคอต (boycott-การคว่ำบาตร) ไม่ให้ซื้อสินค้าหรือบริการของบริษัทนั้น ๆ ทำให้บริษัทเกิดความเสียหาย
จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่ายูนิฟอร์มขององค์กรที่เคยถูกนำมาใช้เพื่อความภาคภูมิใจ และสร้างชื่อเสียงให้องค์กรในอดีตจะกลายเป็นดาบสองคมในยุคปัจจุบันและอนาคตหรือไม่ ?
ตรงนี้แหละครับผมเลยอยากจะฝากเรื่องนี้เป็นข้อคิดสำหรับผู้บริหารในองค์กรต่าง ๆ ว่า
1.ยูนิฟอร์มที่มีโลโก้มีตรา (brand) ของบริษัทยังเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่
2.ถ้ายังตอบว่าจำเป็น เช่น พนักงานในโรงงานจำเป็นต้องใส่ยูนิฟอร์มจะได้แยกแยะได้ว่าเป็นพนักงาน หรือเป็นบุคคลภายนอก ก็ควรจะกำหนดให้พนักงานใส่ยูนิฟอร์มเฉพาะในโรงงานเท่านั้นไม่ให้ใส่ยูนิฟอร์มกลับบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ปฏิบัติเช่นนี้อยู่
3.บริษัทที่แจกเสื้อยืดหรือเสื้อแจ็กเกตให้พนักงานใส่ ยังจำเป็นต้องให้เสื้อยืดนั้นมีโลโก้ของบริษัทอีกต่อไปหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนเป็นให้พนักงานใส่เสื้อยืดหรือเสื้อแจ็กเกตของตัวเองบริษัทก็ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำเสื้อยืดแจกให้กับพนักงานทุกปี (หรือบางแห่ง 2 ปีครั้ง) ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ไม่น้อยจะดีกว่าไหม
4.โลโก้ หรือ brand ของบริษัทมีมูลค่า และมูลค่านี้ต้องใช้เวลาสร้าง กว่าจะได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าและสังคมก็ไม่น้อย ถ้าต้องมาเสียไปเพราะพนักงานนำโลโก้นี้ติดตัวไปที่สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันก็มีกล้องจับอยู่แทบทุกที่ จะเกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหายตามมาในภายหลังหรือไม่
5.บางคนอาจเห็นแย้งว่า ผมมองอะไรในแง่ลบเกินไปหรือเปล่า เพราะในทางกลับกัน ถ้าพนักงานของบริษัทใส่เสื้อที่มีโลโก้ของบริษัทไปทำความดีล่ะบริษัทก็ได้ชื่อเสียงไปด้วยไม่ใช่หรือก็ตอบได้ว่าระหว่างเรื่องร้าย ๆ กับเรื่องดี ๆ ทุกวันนี้สื่อ (ไม่ว่าจะสื่อหลักหรือสื่อโซเชียลก็ตาม) ในบ้านเราชอบเสนอเรื่องร้าย หรือดีมากกว่ากันล่ะครับ ท่านคงคิดต่อได้นะครับว่าบริษัทจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน
ท่านที่อ่านมาทั้งหมดนี้อาจจะเห็นด้วยกับผม หรือไม่เห็นด้วยก็คงเป็นสิทธิของท่านแหละครับ ไม่จำเป็นต้องเชื่อผมทั้งหมด แต่ควรใช้หลักกาลามสูตรคิดวิเคราะห์ผลดีผลเสียให้รอบด้าน ผมแค่เป็นคนนำเสนอไอเดียในมุมหนึ่งเท่านั้นเองครับ
เครื่องแบบชุดพนักงาน ยังจำเป็นอยู่ไหม ? อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://uniformdeluxe.com/